2Candles.com :: กระทู้ เทียนสองเล่ม

ชื่อผู้ใช้:
รหัสผ่าน:

 
      ตำนาน 12 นักษัตร
 

“นักษัตร”  หมายถึง ชื่อรอบเวลากำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร   โดยกำหนดให้สัตว์ 12 ชนิด เป็นเครื่องหมายแต่ละปี เริ่มจากปีชวด – หนู, ฉลู-วัว, ขาล-เสือ, เถาะ-กระต่าย, มะโรง- งูใหญ่, มะเส็ง- งูเล็ก, มะเมีย-ม้า, มะแม-แพะ, วอก-ลิง, ระกา-ไก่, จอ-สุนัข, กุน-หมู ส่วนเรื่องที่ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์แต่ละปีนั้น หาตำนานได้ยากมาก เพราะเรื่อง 12 นักษัตรเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์นานมาก

          ตามตำนานการตั้งจุลศักราชกล่าวว่า   ได้เริ่มต้นใช้จุลศักราช 1 เมื่อรุ่งเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน เอกศก   ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 1182   การที่กล่าวว่า เริ่มต้นจุลศักราชในปีกุนนั้นแสดงว่าปีนักษัตรมีมาก่อนจุลศักราช    แต่มีเมื่อไหร่ไม่ทราบได้เพราะหาหลักฐานได้ยากมาก   สำหรับประเทศไทยได้แบบอย่างการใช้นักษัตรมาจากไหนในหนังสือพงศาวดารไทยใหญ่
พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  

“...12 นักษัตรข้างไทยสยามนั้น   น่าจะเรียงนามสัตว์ประจำองค์สาขาปีมาจากเขมรอีกต่อ   จึงไม่ใช้นามปีภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่ไพล่ไปเลียนนามปี   และนามองค์สังหรณ์จากไทยลาวหาใช้นามปีของตนเองไม่   และไทยลาวน่าจะถ่ายแบบมาจากจีนอันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่   เป็นแต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน”


  ข้างฝ่ายจีนมูลเหตุ 12 นักษัตรก็เล่าตามนิทานว่า   เกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีมนุษย์จากไอฟ้าและดินมากระทบกัน   แล้วกลายเป็นศิลากลมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง แล้วแตกไปเป็นก้อนเล็กอีก 12 ก้อน   เกิดเป็นคนขึ้น 13 คน ก้อนใหญ่นั้นคือ “เทียนอ่องสี” แปลว่า เป็นเจ้าแผ่นดิน   ครั้งนั้นยังไม่มีเดือนมีตะวันมนุษย์พึ่งแสงสว่างด้วยรัศมีพระและเทวดามาช่วยอุปถัมภ์   ขณะนั้นก็ยังไม่มีชื่อแซ่   แล้วต่างแยกย้ายกันไปอยู่ทุกทิศ   อยู่มาวันหนึ่งเทียนอ่องสีเรียกน้องชายทั้ง 12 มาชุมนุมกัน   แล้วว่าเราจะตั้งให้มีปี 12 ปี  บรรจบเป็น 1 รอบ   จะให้ท่านทั้ง 12 คนเป็นชื่อปีกำกับกันทั้ง 12 ปี   น้อง 12 คนได้ฟังก็มีความยินดียอมรับ   แล้วต่างคนต่างไปอยู่ที่อยู่ของตนดั้งเดิม

          ต่อมาบังเกิดเป็นสัตว์ประหลาดรูปร่างเหมือนม้ามีเกล็ดมีปีก   สะพายหีบแดงมาจากแม่น้ำเม่งจิ๋นมีอักษรจารึกไว้ที่หีบว่า ห้อโตลกจือ เป็นตำราโหราศาสตร์   แจ้งวันเดือนและคืนตลอดจนมี 12 นักษัตร มีศก   แต่ยังไม่มีชื่อเรียกปี อย่างไรก็ตาม “สังข์ พัฒโนทัย” กล่าวไว้ในหนังสือ “ จีนสมัยก่อนพุทธกาล” ว่าน่าเชื่อว่านักปราชญ์ของฮวงตี้เป็นผู้ประดิษฐ์ปีนักษัตรตามชื่อสัตว์ต่างๆ อย่างที่เรียกกัน   การที่เอาปีชวดเป็นปีแรกก็เพราะเป็นปีแรกที่ฮวงตี้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ   นี่เป็นตำนานในเมืองจีน   ยังมีตำนานของที่อื่นๆ อีก   เช่น   ตำนานของชาวไทยลื้อ   ซึ่งคล้ายกับตำนานนางสงกรานต์ของไทยที่พระพรหมมีลูกสาว 12 คน   เมื่อพระพรหมถูกตัดเศียรลูกสาวทั้ง 12 มีหน้าที่เชิญพานรองรับเศียรออกมาแห่ทุกปี   โดยผลัดกันปีละคนและแต่ละคนก็จะมีพาหนะต่างๆ กัน  เช่น   นางที่ 1 ขี่หนู นางที่2 ขี่วัว ขี่เสือ ชี่กระต่าย ขี่พญานาค ฯลฯ พาหนะที่นางทั้ง 12 ขี่จึงถูกนำมาเรียกเป็นชื่อปี   “โดยสรุปการเรียกชื่อปี 12 นักษัตรมีในประเทศต่างๆ คือ ไทย เขมร มอญ ญวน จาม ทิเบต ญี่ปุ่น จีน และในจารึกภาษาโบราณของภาตุรกี   สันนิษฐานว่าจีนได้จากตุรกีเพราะเป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง   แล้วญี่ปุ่นก็ได้จากจีนรวมทั้งเกาหลีด้วย   แต่เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกเป็นภาษาของตนเอง”



 
      กลับหน้าหลัก - 2Candles.com