2Candles.com :: กระทู้ เทียนสองเล่ม

ชื่อผู้ใช้:
รหัสผ่าน:

 
      อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ 10 อย่าง (วิปัสสนูปกิเลส)
 

อุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ 10 อย่าง  (วิปัสสนูปกิเลส)

วิปัสสนูปกิเลสหรืออุปกิเลส ๑๐ แห่งวิปัสสนา หมายถึง สิ่งที่ทําให้ใจขุ่นมัวหรือหลง จึงทําให้รับธรรมได้ยาก ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนา กล่าวโดยย่อก็คือ กิเลสที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติวิปัสสนานั่นเอง จึงหมายรวมถึงสมาธิและฌานอันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติวิปัสสนาด้วย เป็นกิเลสชนิดที่ทําให้ติดได้อย่างเหนียวแน่นและยาวนานและให้โทษรุนแรงได้ 

อุปกิเลส๑๐แห่งวิปัสสนา ได้แก่ :-


โอภาส -  แสงหรือภาพ  เห็นแสงสว่างสุกใสหรือนิมิต  เห็นแสงต่างๆ ภาพต่างๆ เห็นแสงสว่างรอบๆสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น พระพุทธรูปที่เป็นกสิณ หรือเห็นเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว หรือแสงออกจากร่างกายตน,  รูปนิมิตต่างๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าได้มรรคผลแล้ว

ญาณ - ความรู้หรือปัญญา แต่ญาณในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึงเป็นมิจฉาญาณนั่นเอง คือเป็นความรู้หรือความเข้าใจแบบผิดๆ เป็นเพียงความรู้สึกว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมหรือความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆหรือธรรมต่างๆแจ่มแจ้งดีแล้ว ถูกต้องถ่องแท้แล้ว จนตกไปจากปัจจุบัน

ปีติ - ความอิ่มใจด้วยอำนาจสมาธิ ปลาบปลื้ม เบิกบาน มีขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล กายลอย กายเบา โปร่งสบาย สมาธิแนบแน่น เป็นผลของสมถะ

ปัสสัทธิ - ความสงบกายและจิต  จึงเกิดอาการที่เรียกกันว่า”ติดสงบ” มีความรู้สึกสงบกาย สงบใจมากเกินไปทำให้วิปัสสนาไม่ปรากฏ

สุข - ความสบายกายสบายจิต  ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า “ติดสุข” เพราะมีความรู้สึกเป็นสุข ความสบาย ทั้งทางใจและทางกาย  สบายกาย สบายใจล้วนแต่เป็นผลจากสมถะอันยังให้เกิดสารคัดหลั่ง  จึงทำเกิดการติดเพลิน

อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ  เป็นศรัทธาจึงน้อมใจไปเชื่อแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือขาดเหตุผลหรืองมงาย ไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่มีเหตุมีผลนั่นเอง

ปัคคาหะ - ความเพียรที่พอดี  แต่ในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึง เพียรมากจนเกินพอดี เกินเหตุชนิดมุทะลุ จึงย่อมตึงเครียดต่อการปฏิบัติมักเนื่องจากปฏิบัติผิดวิธี หรือติดตรึงใจในผลความสุขความสงบความสบาย  หรือมีความเข้าใจแล้วต้องการให้บรรลุหรือสมประสงค์โดยไวด้วยความเพียร  แต่ลืมทางสายกลาง

อุปัฎฐานะ -  สติชัด ความปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ แต่ที่นี้หมายถึง สติแก่กล้าเกินพอดี  สติมากเกินพอดีไปในการปฏิบัติ เช่น จดจ้อง จดจ่อ อย่างต่อเนื่อง อย่างแรงกล้าแต่เฉพาะในสิ่งที่ยึดเป็นอารมณ์ หรือเฉพาะการปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่แต่เท่านั้น

อุเบกขา - ความวางจิตเป็นกลาง ยังให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดอุเบกขา ติดแช่นิ่ง เพราะติดแช่นิ่งอยู่ภายในเป็นกลางวางเฉยอย่างขาดปัญญา,  เป็นกลางวางเฉยแต่อย่างงมงายผิดๆ,  วางเฉยเสียสิ้นโดยขาดปัญญา  แต่ย่อมรู้สึกสงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงไปเข้าใจผิดว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

นิกันติ – ความใคร่ ความต้องการ ยินดี ติดใจ ขอบใจในคุณพิเศษทั้ง ๙ ประการ คือ ตั้งแต่ โอภาส จนถึง อุเบกขา   เรียกสั้นๆคือ ความพอใจ ความต้องการ ความยินดี ความติดใจ ความชอบใจ ในคุณวิเศษทั้ง ๙ ประการและอารมณ์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ วิปัสสนา


 
      กลับหน้าหลัก - 2Candles.com