ข้อความจากอาจารย์จัสตินถึงผู้อ่าน
ช่วงนี้ผมมีลูกศิษย์หลายท่านที่มีเชื้อสายจีนเจอปัญหาต่างๆนาๆ เช่น รถชน หกล้ม หมากัด ฝันร้าย..... ช่วงนี้เป็นช่วงใกล้ สารทจีน ขอให้ท่านที่มีเชื้อสายจีน อย่าลืมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หาโอกาสเลี้ยงภัตราหารพระ โดยสิ่งที่แนะนำอย่างมากว่าควรมีในการทำบุญอาหารระยะนี้(ขาดไม่ได้ )ก็คือ ไก่ต้ม หมูสามชั้น เป็นต้น (อาหารอย่างอื่นก็จัดถวายร่วมกันไปตามแต่ศรัทธา) แต่ท่านอย่าลืม 2 อย่างที่กล่าวมานี้
และเวลาก่อนออกจากบ้านแนะนำตั้ง นะโมฯ 3 จบ ก่อนนะครับ...
วันสารทจีน
ตามปฏิทินทางจันทรคติ เทศกาลสารทจีนจะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน เทศกาลสารทจีนถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
สารทจีน เป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน ในอดีตเป็นเทศกาลใหญ่มาก แต่ปัจจุบันลดความสำคัญลง นอกจากในวัดพุทธและวัดเต๋าแล้ว แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้านจีนภาคใต้ ตั้งแต่มณฑลหูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง ลงมาจนถึงกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ ยังคงเป็นเทศกาลใหญ่ เป็น ๑ ใน ๘ เทศกาลสำคัญประจำปีของจีนแต้จิ๋วในไทย สารทจีนเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ ๒ รองจากตรุษจีนเท่านั้น
เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "จงหยวนเจี๋ย (จงเอวียนเจี๋ย)" แต้จิ๋วว่า "ตงหง่วงโจ็ย" ชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธเรียกว่า อวี่หลัน เผินเจี๋ย นอกจากนี้ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "กุ่ยเจี๋ย ( กุ่ยเจี๋ย)" แปลว่า "เทศกาลผี" ชื่อทั้งสามนี้ถ้าคุยกับคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทุกคนจะรู้จักดี แต่คนปักกิ่งจะไม่รู้จักเลย เพราะเทศกาลนี้ปัจจุบันชาวบ้านจีนภาคเหนือไม่ได้ทำแล้ว คงเหลือแต่ในวัดพุทธและเต๋าเท่านั้น
คำ "จงหยวน " ที่เป็นชื่อเทศกาลนี้เป็นคนละคำกับ "จงหยวน " ซึ่งหมายถึง "ดินแดนลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและตอนล่างอันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมจีน" จงเอวียนที่เป็นชื่อเทศกาลได้มาจากชื่อเทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า
วันเทศกาลสารทจีนคือวันเทวสมภพของเทพจงหยวน จึงเรียกว่า "จงหยวนเจี๋ย" (ตงหง่วงโจ็ย) แปลว่า เทศกาลเทพจงหยวน ตรงกับวันกลางเดือน ๗ จึงเรียกว่า "ชีเย่ว์ปั้น" ( ชิกว็วยะปั่ว) หมายถึงเทศกาลกลางเดือน ๗ แต่เทศกาลนี้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือน ๗ คือวัน ๑ ค่ำ เป็นวัน "เปิดยมโลก" ให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย วัน ๑๕ ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ วันสิ้นเดือน ๗ (๓๐ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ** ดูเพิ่มเติมตอนท้ายเกี่ยวกับปฏิทินจีน**) เป็นวัน "ปิดประตูยมโลก" ผีทั้งที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน ๗ อีกต่างหาก กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือน ๗ เป็น "เดือนผี" และเทศกาลกลางเดือน ๗ คือ "เทศกาลผี" แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารทหรือชิวเทียน (Autumn) ของจีนอีกด้วย
เทศกาลจงหยวนมีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ คือวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาเต๋ารวมกันอย่างกลมกลืน วัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณเป็นที่มาของลัทธิขงจื๊อและคตินิยมพื้นฐานของคนจีน ตลอดมา ลัทธิขงจื๊อจึงเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของจีนไปโดยปริยาย แต่ก็เข้ากันได้กับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าซึ่งเข้ามาแพร่หลายและเกิดขึ้นใน ภายหลัง จนในวิถีชีวิตคนจีนมีอิทธิพลของ ๓ ศาสนานี้อยู่คละเคล้ากันไป
ตามประเพณีจีนโบราณมีพิธีเซ่นไหว้ฟ้าดินและบรรพบุรุษทั้ง ๔ ฤดู คือ ฤดูวสันต์ (ใบไม้ผลิ) คิมหันต์ (ร้อน) สารท (ใบไม้ร่วง) และเหมันต์ (หนาว) ในคัมภีร์หลี่จี้ ( คัมภีร์วัฒนธรรมประเพณี) ซึ่งบันทึกประเพณีสมัยราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. ๕๐๓-พ.ศ. ๓๒๒) บรรพ "เทศกาลประจำเดือน" กล่าวว่า "เดือน ๗ ข้าวสุกเก็บเกี่ยวได้ โอรสสวรรค์ชิมข้าวใหม่ โดยนำไปบูชาที่ปราสาทเทพบิดรก่อน" อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า "เดือน ๗ วันลี่ชิว (เริ่มฤดูสารท) โอรสสวรรค์นำสามนตราช สามมหาเสนาบดี มนตรีทั้งเก้า มุขอำมาตย์ราชเสนา ไปทำพิธีรับฤดูสารทที่ชานเมืองด้านตะวันตก...เซ่นสรวงเทพประจำฤดูสารทอัน เป็นเทพแห่งมรณะ" ลี่ชิวเป็นชื่อปักษ์หนึ่งใน ๒๔ อุตุปักษ์ตามระบบปฏิทินจีนเก่า
การไหว้ในเทศกาลสารทจีนแบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้ 1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมที่ไหว้ก็ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง
3. ชุดสำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการและที่ พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
ขนมที่ใช้ไหว้ ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี •ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล •เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่ •หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา •มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง •กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ
สาระน่ารู้เกี่ยวกับการไหว้เจ้า การ ไหว้เจ้า เป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานจีนปฏิบัติสืบทอดกันมา ตามความเชื่อที่จะต้องไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษเพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว ในปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้า 8 ครั้ง คือ
ไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 คือ ตรุษจีน เรียกว่า “ง่วงตั้งโจ่ย” ไหว้ครั้งที่สอง ไหว้เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า “ง่วงเซียวโจ่ย” ไหว้ครั้งที่สาม ไหว้เดือน 3 วันที่ 4 เรียกว่า “ไหว้เช็งเม้ง” เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่ฮวงซุ้ย ไหว้ครั้งที่สี่ ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง ไหว้ครั้งที่ห้า ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 คือ ไหว้สารทจีนเรียกว่า “ตงง้วงโจ่ย” ไหว้ครั้งที่หก ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า “ตงชิวโจ่ย” ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า ไหว้พระจันทร์ ไหว้ครั้งที่เจ็ด ไหว้เดือน 11 ไม่กำหนดวันแน่นอน เรียกว่า “ไหว้ตังโจ่ย” ไหว้ครั้งที่แปด ไหว้เดือน 12 วันสิ้นปี เรียกว่า ไหว้สิ้นปี หรือ “ก๊วยนี้โจ่ย”
ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย” โป๊ย คือ 8 โจ่ย แปลว่า เทศกาล โป๊ยโจ่ย จึงหมายความว่า การไหว้เจ้า 8 เทศกาล ซึ่งนอกจากการไหว้เจ้า 8 เทศกาลนี้แล้ว
เมื่อพูดถึงการไหว้เจ้า จะหมายถึงการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษ เครื่องเซ่นสำหรับไหว้เจ้าที่จะจัดเป็น 1 ชุด เครื่องเซ่นสำหรับบรรพบุรุษจะจัดเป็นอีกชุดต่างหาก การไหว้จะไหว้ในตอนเช้า โดยไหว้เจ้าที่ก่อน พอสายหน่อยจึงจะตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของไหว้จะมีของคาว ของหวาน ผลไม้ และเครื่องดื่ม โดยมีกับข้าวคาวเพิ่มเข้ามาสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งมีธรรมเนียมว่าต้องให้มีของน้ำ 1 อย่าง เช่น แกงจืด
การจัดของไหว้
ถ้าจัดใหญ่ นิยมเป็นตัวเลข 5 คือ มีของคาว 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวแซ” ประกอบด้วย หมู ไก่ ตับ ปลา และกุ้งมังกร แต่เนื่องจากกุ้งมังกรนั้นแพงและหาไม่ง่าย จึงนิยมไหว้เป็ดหรือปลาหมึกแห้งแทน ของหวาน 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” อาจเป็นซาลาเปาไส้หวาน ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมกุยช่าย และขนมจันอับ ผลไม้ 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวก้วย”
ถ้าจัดเล็ก ก็เป็นชุดละ 3 อย่าง มีของคาว 3 อย่างเรียกว่า “ซาแซ” ของหวาน 3 อย่าง เรียกว่า “ซาเปี้ย” ผลไม้ 3 อย่าง เรียกว่า “ซาก้วย” หรือจะมีแค่อย่างเดียวก็ได้
ผลไม้ที่ใช้ไหว้ จะนิยมเลือกชนิดที่มีอะไรที่เป็นมงคลอยู่ในตัว ส้ม เรียกว่า “ไต้กิก” แปลว่า โชคดี องุ่น เรียกว่า “พู่ท้อ” แปลว่า งอกงาม สับปะรด เรียกว่า “อั้งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา กล้วย มีความหมายถึงการมีลูกหลานสืบสกุล
ที่ในกระถางธูปที่ใช้ไหว้เจ้า บางคนนิยมใส่ “โหงวจี้” สำหรับปักธูป ประกอบด้วย เมล็ด 5 อย่าง คือ ข้าวสาร ข้าวเหนียว ถั่วเขียว ถั่วดำ และเชื้อแป้ง (ยีสต์) โดยถือว่าเมล็ดทั้งห้า คือบ่อเกิดของการเจริญเติบโตอุปมาอุปไมยให้การไหว้เจ้านี้นำมาซึ่งความเจริญ รุ่งเรือง
แต่การใช้โหงวจี้ปักธูป มีข้อจำกัดว่าใช้ได้แต่ในบ้าน ถ้าเป็นการไหว้นอกบ้าน ต้องใช้ข้าวสารหรือทราย มิฉะนั้นเชื้อแป้งเมื่อถูกความชื้น เช่น ฝนหรือน้ำค้าง จะทำให้แข็งตัวแล้วปักธูปไม่ลง เมื่อไหว้เจ้าเสร็จก็เผากระดาษเงินกระดาษทองเป็นการปิดท้ายรายการ
*** สาระเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิทินจีน ปฏิทินจีนเก่ามี ๒ แบบ คือ ปฏิทินจันทรคติมีเดือนละ ๒๙-๓๐ วัน ๑ ปี ๑๒ เดือน ๓๕๔ วัน ปฏิทินสุริยคติปีหนึ่งมี ๔ ฤดู ฤดูละ ๓ เดือน เดือนละ ๒ ปักษ์ ตามลักษณะอากาศจึงเรียกว่าอุตุปักษ์ ปีหนึ่งมี ๒๔ ปักษ์ ๓๖๕ วัน เดือนตามปฏิทินจันทรคติอาจคลาดเคลื่อนกับฤดูได้ ภายหลังจึงใช้ระบบอธิกมาส (เพิ่มเดือน) และอธิกวาร (เพิ่มวัน) ที่คนจีนเรียกว่า "ญุ่น " กำกับ ระบบอธิกมาสของไทยเพิ่มเฉพาะเดือน ๘ แต่ของจีนมีหลักต่างออกไป ไม่ได้เพิ่มเฉพาะเดือน ๘ เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ ปฏิทินจีนมีเดือน ๗ สองหน เรียกว่า "ญุ่นชี ( หยุ่งฉิก-เพิ่มเดือน ๗) การใช้ระบบอธิกมาส อธิกวารทำให้ฤดูกับเดือนตรงกันทุกปี คือ เดือน ๑-๓ ฤดูใบไม้ผลิ เดือน ๔-๖ ฤดูร้อน เดือน ๗-๙ ฤดูสารท เดือน ๑๐-๑๒ ฤดูหนาว วันลี่ชิวคือวันเริ่มฤดูใบไม้ร่วง จะตรงกับวันที่ ๗ หรือ ๘ สิงหาคม แต่จะตรงกับวันกี่ค่ำเดือน ๗ นั้น แล้วแต่ช่วงคลาดเคลื่อนของจันทรคติ (การนับค่ำ-เดือน) กับสุริยคติ (การนับฤดูและ ๒๔ อุตุปักษ์) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ วันลี่ชิวตรงกับวันที่ ๘ สิงหาคม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ซึ่งเป็นวันเทศกาลจงหยวน หรือวันสารทจีนพอดี ตามความเชื่อจีนโบราณ
เดือน ๗ เป็นทั้งเดือนดีและเดือนร้าย เพราะข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวได้ นำผลแรกได้ (ข้าวใหม่) ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน แต่เทพประจำเดือน ๗ เป็นเทพแห่งความตายจึงต้องเซ่นสรวงต่างหากออกไป ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่ามีผีร้ายร่อนเร่เรียกว่า "ลี่ " ไม่มีญาติเซ่นไหว้ พอถึงฤดูสารทซึ่งผู้คนนำผลแรกได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผีพวกนี้จะคอยมาแย่งกินของไหว้หรือไม่ก็ทำร้ายผู้คนด้วยความหิวโหย ฉะนั้นพอถึงฤดูสารทจึงต้องเซ่นไหว้ทั้งบรรพชนและผีไม่มีญาติแยกกัน ประเพณีนี้ปฏิบัติกันในหมู่ชนทุกชั้นทั้งกษัตริย์ ขุนนาง ไพร่บ้านพลเมือง ความเชื่อว่าเดือน ๗ เป็นเดือนผีคงมีมาตั้งแต่โบราณ ต่อมาในยุคหลัง "ลี่" เป็นชื่อพญาผีผู้เป็นหัวหน้าของผีร้ายทั้งปวง การเซ่นไหว้เดือน ๗ ในยุคโบราณคงทำในวันลี่ชิวหรือไม่ก็วันกลางเดือน ต่อมาอิทธิพล พุทธศาสนาทำให้การเซ่นไหว้เดือน ๗ มีพัฒนาการไปจากเดิม พุทธศาสนาเข้าสู่จีนรัชกาลพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ (พ.ศ. ๖๐๑-๖๑๘) ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. ๕๕๑-๗๖๐) แพร่หลายในยุคสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓-๘๐๘) และราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘-๙๖๓) รุ่งเรืองในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ. ๙๖๓-๑๑๓๒) สมัยราชวงศ์จิ้นมีผู้แปล "อุลลัมพนสูตร (อ่านว่า อุน-ลัม-พะ-นะ-สูด) ของนิกายโยคาจาร เรื่องในพระสูตรนี้มีอิทธิพลต่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษในเดือน ๗ ของจีนมาก |