2Candles.com :: กระทู้ เทียนสองเล่ม

ชื่อผู้ใช้:
รหัสผ่าน:

 
      บายศรี
 

บายศรี

มีหลายท่านที่ตรวจสอบต้นบุญของตัวเองแล้ว และมีโครงการว่าจะไปสักการะต้นบุญของตนเองด้วยบายศรี...ทีนี้มาคุยกันเกี่ยวกับบายศรีดีกว่า ว่าบายศรีคืออะไร มีแบบไหน และหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้าง


“ บาย ” ในภาษาเขมร แปลว่า ข้าวสุก ส่วนภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า จับต้อง สัมผัส
“ ศรี ”  เป็นคำสันสกฤต ตรงกับ บาลีคือ “ สิริ ” ซึ่งแปลว่า มิ่งขวัญ

โดยรวมนิยามของบายศรีจึงน่าจะ แปลได้ว่า ข้าวขวัญ หรือ สิ่งที่น่าสัมผัส กับความดีงาม

สมัยโบราณ มีการเรียกพิธี สู่ขวัญว่า “บาศรี ” ทั้งนี้สืบเนื่อง มาจากเป็นพิธี สำหรับบุคคล ชั้นเจ้านาย เพราะคำว่า “ บา ” เป็นภาษาโบราณ ทางอีสานใช้เป็น คำนำหน้าเรียกเจ้านาย เช่น บาท้าว บาบ่าว บาคราญ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ ศรี ” หมายถึง ผู้หญิงและ สิ่งที่เป็นสิริมงคล “ บาศรี ” จึงหมายถึง การทำพิธีที่ เป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันนี้ มักนิยมเรียกกันว่า “บายศรี”

บายศรีมีลักษณะนามเรียกว่า “องค์” มีหลายประเภท เช่น บายศรีเทพ บายศรีพรหม บายศรีหลัก บายศรีตอ บายศรีบัลลังก์  เป็นต้น

 

การ จัดทำ บายศรี นั้น เริ่มจาก การนำใบตอง ที่มาจากกล้วยตานี เย็บเป็น บายศรี ประดับด้วย ดอกไม้มงคลต่างๆ ส่วนตัวบายศรี ยังแบ่งออก ตามลักษณะ การใช้งาน ในการบูชา ที่แตกต่าง ออกไป เช่น


บายศรีปากชาม
ลักษณะบายศรี รองด้วยชาม ที่มี ขนาดเหมาะสม ตัวแม่มี ๕ ลูก จำนวน ๓ ด้าน และมีลูก ๓ ลูก แซมอีก ๓ ด้าน มีแมงดาที่แม่บายศรี อีกทั้ง ๓ ด้าน ส่วนตรงกลางบายศรีจะม้วนเป็น กรวยด้วยใบตองตานี ภายในใส่ข้าวสวย ไว้ภายใน ส่วนยอดบายศรี จะใช้ไข่ต้มเสียบ ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ดอกไม้เสียบแทนบ้างก็พบเห็นได้มาก ส่วนรอบๆบายศรีจะมีการนำดอกไม้มงคลต่างๆมาประดับ เช่นดอกดาวเรือง ดอกบานชื่นเป็นต้น บายศรีปากชาม เป็นบายศรี ที่มักจะใช้ในการ สักการะบูชา เทพยดา ครูบาอาจารย์ หรือในการบวงสรวง เทพยดาในทุกๆ พิธีกรรม จะขาดบายศรีปากชาม ไม่ได้

บายศรีเทพ
จะมีลักษณะ ตัวแม่ ๙ ลูก ตัวลูก ๕ ลูก ปัจจุบันจะไม่ใส่ ข้าวภายใน กรวยเหมือน บายศรีปากชาม แต่ก็อนุโลม ให้ใช้เรียกว่า บายศรีเทพ เพื่อสักการะ บูชาเทพยดา

 

บายศรีพรหมะใช้ตัวแม่ ๑๖ ลูก ตัวลูก ๙ ลูก ภายใน กรวยที่อยู่ ตรงกลาง จะบรรจุด้วย หญ้าแพรก ใบโพธิ์ ใบขนุน ดอกเข็ม ด้านนอก จะใช้หมาก – พลู บุหรี่ ดอกไม้มงคล ประดับใช้ใน พิธีกรรมการ บวงสรวง พระพรหม เช่น การตั้งศาล หรือพิธีกรรม บวงสรวง ในงานไหว้ครู

  

บายศรีหลัก
ใช้บายศรีสลับกันไป เช่น ชั้นแรก ๓๒ ลูก หรือ ๑๖ ลูก ชั้นต่อไป ก็ลดลง ตามแต่ผู้สั่งจะสั่งทำ บายศรีหลัก มี ๙ ชั้น หรือ ๗ ชั้น หรือ ๕ ชั้น ซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้ในพิธีกรรม ไหว้ครู ซึ่งให้ความหมาย “ด้านการตั้งตัว มีหลักมีฐานที่มั่นคง”
                                                                                             

บายศรีตอ
ตำราโบราณ จะใช้ต้นกล้วย เป็นแกนกลาง ใช้รัดด้วยบายศรี เป็นชั้นหนึ่ง หรือสองชั้น ก็มีชั้นแรก ด้านบน จะใช้บายศรี แม่ตั้งขึ้น ๕ ลูก แล้วลง ๕ ลูก เป็น ๓ ด้าน ช่วงตรงกลาง ของช่องว่าง จะคั่นด้วยตัว ลูกขึ้น ๓ ลูก ลง ๓ ลูก บนยอด จะใส่กระทง หมาก – พลู บุหรี่ ของหวาน เช่น เม็ดขนุน ทองยอด แล้วปิดด้วย กรวย เป็น บายศรี ซึ่งใช้ในทาง ความหมายในทาง ขอขมา ต่อเทพยดา ครูบาอาจารย์พื้นล่าง

บายศรีบัลลังก์
มีทั้ง บัลลังก์บรมครู บัลลังก์ศิวะ บัลลังก์นารายณ์ (ส่วนใหญ่ จะทำเป็น รูปพระยานาค มี ๕ - ๗ เศียร) บางครั้ง ก็ทำบัลลังก์ เป็นรูป พระยาครุฑ บัลลังก์ธรรมจักร ก็มี บัลลังก์พิฆเนศ บัลลังก์จุฬามณี

ปัจจุบับมีการประยุกต์รูปแบบของบายศรีอีกมากมาย เช่นบายศรีเทพอุ้มพรหม บายศรีมังกร ซึ่งแล้วแต่ความต้องการและปัจจัยของเจ้าพิธีเจ้าพิธีด้วย

 

ในกรุงเทพบายศรีหาได้มากที่ปากคลองตลาด เดินเลือกซื้อเลือกสั่งได้หลายร้าน ราคาไม่แพง เลือกดูตามความปราณีตในการจัดทำ หากหาพวกบายศรีปากชาม บายศรีเทพ บายศรีพรหม มีทำสำเร็จไว้แล้วอยู่หลายร้าน หากต้องการจำนวนมากหรือตกแต่งแบบพิเศษอาจต้องไปสั่งกันไว้ก่อน

 

ส่วนท่านที่จะไปสักการะต้นบุญที่ต่างจังหวัด ถ้าเป็นแถบอีสานลองติดต่อปรึกษากับทางวัดไว้ล่วงหน้าก่อนก็น่าจะได้ เพราะในบางวัดจะมีฝ่ายจัดทำให้เราก็แค่แจ้งว่าจะสะดวกถวายปัจจัยเท่าไร หรือท่านอาจแนะนำว่าจะสามารถจัดหาหรือติดต่อได้จากที่ใด  ซึ่งก็เป็นการสะดวกดี และถือว่าได้ทำบุญโดยทางอ้อมด้วยอีกทาง


 
      กลับหน้าหลัก - 2Candles.com