2Candles.com :: กระทู้ เทียนสองเล่ม

ชื่อผู้ใช้:
รหัสผ่าน:

 
      ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์
 


นับย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน อเมริกานับเป็นประเทศแรก ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ สมัยนั้นมีนักวิจัยทำรายงานและเก็บสถิติได้ว่า ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นประสบปัญหาโรคทางสายตา เช่น ต้อกระจก เกิดอาการเครียด ปวดศีรษะมากที่สุด เพราะจอหรือมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ นั้นยังไม่ได้รับการพัฒนา


คอมพิวเตอร์ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ทว่าทำให้เราเกิดโรคใหม่ ที่ไม่มีเชื้อ ไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่ใช่โรคติดต่อ โรคพวกนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วรักษาให้หายยาก ใช้เวลานาน นอกจากจะก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองแล้ว ยังทำลายคุณภาพชีวิตด้วย ทำให้ขาดมนุษยสัมพันธ์ ขาดการออกกำลังกาย ขาดโภชนาการที่ดี

โรคและกลุ่มอาการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์


*โรค Cumulative Trauma Disorders (ความผิดปกติจากอุบัติภัยสะสม) อาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการปวดคอ ไหล่ ข้อมือ และหลัง ผู้ที่เป็นมาก ๆ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการชาที่มือ อาการของโรคพวกนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

-ระยะแรกเป็นแล้วหายเมื่อได้พัก

-ระยะสองคือ มีอาการต่อเนื่องถึงกลางคืน และหายเมื่อได้พัก

-ระยะสามคือ เป็นตลอดเวลาไม่หายเมื่อได้พัก การรักษาคือ ต้องปรับพฤติกรรมการทำงานของตนเองก่อน หรือถ้าเป็นมากควรปรึกษาแพทย์ และควรเล่าประวัติการทำงาน ให้แพทย์ทราบสาเหตุที่แท้จริง แพทย์จึงจะรักษาเจาะจงเฉพาะที่ได้


โรคนี้มีความคล้ายกับ โรคจากการทำงานซ้ำซาก ซึ่งนักกายภาพบำบัดอธิบายว่า พบมากในผู้ที่ทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน มักจะมีอาการชาข้อมือ หรือที่เรียกว่า กลุ่มอาการอุโมงค์ข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) เกิดเนื่องจากการใช้งานซ้ำ ๆ ที่บริเวณข้อมือ ทำให้เอ็นรอบ ๆ ข้อมือหนาตัวขึ้นแล้วไปกดเส้นประสาทที่วิ่งผ่าน ทำให้เกิดอาการชาและเจ็บได้ ซึ่งการรักษานอกจากทางกายภาพ โดยใช้ความร้อนทำให้บริเวณที่จับหนาตัวขึ้นนิ่มลงและยืดมันออก ทำให้อุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านขยายตัวได้ แต่ถ้าผู้ที่เป็นมาก ๆ จะมีอาการชาจนกระทั่งกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงไป การผ่าตัดคือ วิธีรักษาที่ดีที่สุด

*โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) มักจะเกิดกับผู้ที่เล่นอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้กลายเป็นคนขี้เบื่อ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน เครียดง่าย เช่น ทนรอเครื่องดาวน์โหลดนาน ๆ ไม่ได้ กระวนกระวาย หากมีอาการมาก ๆ ก็จะเข้าข่ายโรคประสาทได้ ท่านจึงควรปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และพยายามควบคุมอารมณ์ตนเองไว้บ้าง มิฉะนั้นท่านจะเป็นคนที่เสียทั้งงานและเสียทั้งเพื่อนได้

*โรคภูมิแพ้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอก โฮล์ม ในสวีเดนพบว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ สารนี้มีชื่อว่า Triphenyl Phosphate ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในจอวิดีโอ และคอมพิว เตอร์ สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เช่น คัน คัดจมูก และปวดศีรษะ ผลวิจัยพบว่า เมื่อจอคอมพิวเตอร์ร้อนขึ้นจะปล่อยสารเคมีดังกล่าวออกมา โดยเฉพาะหากสภาพภายในห้องทำงานที่มีเนื้อที่จำกัด เครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ ดังนั้น อากาศที่ดีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ข้อเสนอแนะ
การจัดและปรับสภาพโต๊ะทำงานคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้คอมพิวเตอร์แต่ละคน ควรปรับระดับที่เหมาะสมของตนเอง เพื่อให้ได้ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาตาล้า และความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อของร่างกาย จึงขอเสนอคำแนะนำในการจัดสัดส่วนงานคอมพิวเตอร์ มีรายละเอียด ดังนี้ คือ

- จอภาพคอมพิวเตอร์ควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาในแนวประมาณ 20 องศา
- ระยะในการมอง ควรอยู่ระหว่าง 50-70 ซม.
- เก้าอี้ปรับระดับได้ และ/หรือโต๊ะปรับระดับความสูงได้
- นั่งหลังตรง หลังพิงพนักพิง
- จอภาพควรเป็นประเภทตัวหนังสือมืดบนพื้นสว่าง ภายใต้ระดับความส่องสว่างของแสงประมาณ 300-500 ลักซ์ หรืออย่าให้มีการสะท้อนของแสงที่ตกกระทบ ทำให้เสมือนมีหมอกมาบดบังอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข


 
      กลับหน้าหลัก - 2Candles.com