2Candles.com :: กระทู้ เทียนสองเล่ม

ชื่อผู้ใช้:
รหัสผ่าน:

 
      พระครูภาวนาวรคุณ(พยนต์ เขมเทโว)
 

พระครูภาวนาวรคุณ(พยนต์  เขมเทโว)

หลวงพ่อพระครูภาวนาวรคุณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ ณ บ้านเลขที่ ๓ หมู่ ๘ ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ของคุณพ่อแถบ  คุณาบุตร (ซึ่งคุณพ่อแถบเป็นน้องคนที่ ๑ ของท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ (เจิม  คุณาบุตร))  และคุณแม่กิมลี้  คุณาบุตร นามเดิมของหลวงพ่อพระครูภาวนาวรคุณ ชื่อ พยนต์  คุณาบุตร


       เมื่ออายุได้ ๖ ปี ไปอยู่กับคุณยายนาค  ยิ้มหงส์ ณ บ้านเลขที่ ๓๓๖ ข้างวัดธรรมนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม (เพราะคุณยายไม่มีลูกชาย)และได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนอนุบาลครูเทพ
       อายุได้ ๙ ปี ย้ายกลับมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเกิด เพราะคิดถึงคุณพ่อคุณแม่ และพี่น้อง ได้เรียนชึ้นประถมศึกษาที่บ้านบางโทรัด
       อายุได้ ๑๑ ปี ย้ายไปอยู่กับคุณยายที่สมุทรสงครามอีก เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนปุโรทกานนท์บูรณะ จบชั้นมัธยมปีที่ ๓ และต่อที่โรงเรียนศรัทธาสมุทร จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๕
       อายุได้ ๑๖ ปี ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านบางโทรัด
       อายุ ๑๗ ปี ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านเลขที่ ๑๑๑ ก. ตลาดสมเด็จเชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพุทธ) เพื่อเรียนวิชาช่างเครื่องยนต์ และวิชาเดินเรือทะเล สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรเดินเรือชายฝั่งทะเล และประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเครื่องกลชั้นที่ ๑ จากกรมเจ้าท่า กรุงเทพฯ
       อายุได้ ๑๘ ปี เริ่มประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือ โดยเป็นผู้ควบคุมเรือยนต์ ชื่อ ศรีสมุทรได้นำเรือลำนี้ไปถึงหลังสวน จังหวัดชุมพร และบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณแม่มีความเป็นห่วงท่านมาก ให้ขายเรือให้กับนายชุ่ม ทองจันทร์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเดินทางกลับมาอยู่ธนบุรี
       คุณแม่เห็นมีนิสัยชอบเดินทะเล จึงได้ซื้อเรือเดินทะเลจากนายกังวาน (เจ้าพ่อบางนกแขวก)ให้ ๑ ลำ ชื่อเรือศรีบุญล้อม โดยให้เป็นผู้ควบคุมเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดชายทะเลต่าง ๆ เช่น ทางทิศใต้ไปถึงสงขลา เกาะสมุย และเกาะพงัน ทิศตะวันออกไปถึงจันทบุรี และตราด
       อายุย่างเข้าปีที่ ๒๐ ก่อนจะเข้าเกณฑ์ทหาร คุณแม่เห็นว่าการเป็นทหารนั้นลำบากมาก จึงให้เข้าไปสมัครเรียนโรงเรียนนายสิบ เป็นตำรวจน้ำนอกเกณฑ์ ในกองบัญชาการตำรวจน้ำ ที่ท่าเรือคลองเตยเรียนสำเร็จได้บรรจุเป็นนายสิบตำรวจตรี (พิเศษ) เพราะก่อนเกณฑ์เข้าเรียนโรงเรียนนายสิบตำรวจน้ำ ๖ เดือน ออกประจำการที่แผนก ๓ กองกำกับการ ๓ สุริวงศ์ กรุงเทพฯ ๑ ปี ขณะนั้นตรงกับ พ.ศ.๒๔๙๔ ย้ายไปประจำแผนก ๑ กองกำกับการ ๓ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ
       มีรายการพิเศษที่สำคัญ คือ ไปปราบโจรสลัดจีน ในทะเลร่วมกับพลตำรวจตรีนิจ  สุขุม ผู้บังคับการตำรวจน้ำ โดยเรือตำรวจชาติตระการโกศล สู้รบกับโจรจีนในทะเล สามารถจับโจรจีนและได้เรือโจร ๔ ลำ นำเข้าไปควบคุมไว้ดำเนินคดีที่ปากน้ำชุมพร แล้วกลับมาประจำที่แผนก ๑ กองกำกับการ ๓ ปากน้ำ จังหวัดสมุทปราการตามปกติ และได้เลื่อนยศสิบตำรวจโทได้ประมาณ ๓ เดือน ก็ย้ายไปแผนก ๔ กองกำกับการ ๑ จังหวัดสมุทรสาคร โดยประจำเรือตรวจการ ๕๐๕ ลาดตะเวนตรวจเขตอ่าวมหาชัย แม่กลอง บ้านแหลม เพชรบุรี ได้ประมาณ ๘ เดือน ย้ายไปประจำแผนก ๑ กองกำกับการ ๓ ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการอีก


       ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ยื่นใบลาอุปสมบทตามประเพณีและตามความเรียกร้องของบิดามารดา ได้รับอนุญาติให้ลาได้ ๑๒๐ วัน ขณะนั้นได้เลื่อนยศเป็นนายสิบตำรวจเอก บวชเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ฑ.ศ.๒๔๙๙ ณ พัทธสีมาวัดบัณฑูรย์สิงห์ ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพระครูสมุทรธรรมสุนทร (หลวงพ่อวัดกาหลง) เป็นอุปชฌาย์ พระครูหงส์สุธา วัดบางพลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูสาครวุฒิชัย วัดบัณฑูรสิงห์ เป็นอนุสาวนาจารย์


       ได้เรียนพระกรรมฐานจากท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ (เจิม  คุณาบุตร) ผู้เป็นลุง ตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี และได้รับอิธิบาท ๔ ต่อมาไม่นานได้รับธรรมานุสรณ์การปฏิบัติย่อ ๆ มาไม่ค่อยสม่ำเสมอ หลังจากไปทำงานแล้วกลับมาบวชอีก จึงได้ปฏิบัติจริงจังอีกครั้งหนึ่ง และได้ลาออกจากราชการด้วยเหตุเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา


       ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดบัณฑูรย์สิงห์ (พระครูสาครวุฒิชัย) ให้ควบคุมการสร้างอาคารเรียนโรงเรียนเมืองสมุทรสาคร วัดบัณฑูรย์สิงห์ และได้รับมอบหมายจากท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ให้เป็นผู้ควบคุมช่างและจ่ายค่าแรงงา ชักชวนชาวบ้านสร้างถนนเดินเท้าร่วมกับท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ ไปวัดบางน้ำวน ๑ สาย ไปวัดบางพลี ๑ สาย และเข้าหมู่บ้านคลองซื่อ ๑ สาย


       พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ นิมนต์ให้เข้าไปอยู่ในสำนักเกตุมดีย์ฯ ขณะนั้นเรียกว่า พุทธเจดีย์กลางทุ่งเริ่มจัดปริวาสกรรมและดิถีปริวาสของคฤหัสถ์ โดยการอุปถัมภ์ของท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ จนกระทั่งท่านมรณกรรม หลวงพ่อได้จัดการขอจัดสำนักวัดเกตุมวดีย์ ขึ้นเป็นวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และจัดสร้างถนนในวัด สร้างเสนาสนะที่จำเป็นและทุกอย่างที่ปรากฎ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา


       นอกจากการสร้างความเจริญให้วัดแล้ว หลวงพ่อยังมีความเมตตาห่วงใยในความเป็นอยู่ของญาติโยมที่อยู่ใกล้เคียง ต้องการให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต้องการให้เยาวชนของชาติในท้องถิ่นของท่านมีการศึกษา อนามัยที่ดี มีสวัสดิการและคุณภาพของชีวิตทัดเทียมกับชาวกรุงโดยทั่วไป ท่านได้ดำเนินการติดต่อกันเรื่อยมาโดยไม่หยุดยั้งดังนี้
       ๑. เริ่มการก่อตั้งโรงเรียนประถมศึกษา (โรงเรียนประชาบาล) วัดเกตุมดีศรีวราราม
      ๒. ทำการขุดลอกคลองเกตุมวดีฯ คลองซื่อ สร้างถนนจากท่าเรือหน้าวัดบัณฑูรย์สิงห์ ถึงวัดเกตุมดีฯ (ถนนสายเก่า)
       ๓. สร้างถนนร่วมกับสภาตำบล จากท่าเรือหน้าวัดบัณฑูรย์สิงห์ ถึงถนนธนบุรี-ปากท่อ (สายใหม่)
       ๔. ช่วยเหลือในการตั้งศูนย์พัฒนาดินเค็ม กรมการพัฒนาที่ดิน กับอธิบดีบรรเจิด  พลางกูล และนายกมล หัวหน้าศูนย์คนแรก
       ๕. ขอเปิดโรงเรียนมัธยมเกตุมวดีย์วรคุณวิทยา โดยขั้นต้นได้อาศัยหอเณร อุบาสก อุบาสิกา สร้างอาคารเรียนทรงไทย ๓ ชั้น โดยเงินสมทบส่วนหนึ่ง
จากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จนเป็นโรงเรียนที่สง่างามดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้
       ๖. เดินไฟฟ้าสายเดี่ยวเข้าวัดเป็นระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร โดยได้รับความร่วมมือจากคุณสมเจตน์  วัฒนสินธุ์ และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ
มหาวิทยาลัย
       ๗. สร้างป้อมตำรวจทางหลวง มอบให้กรมตำรวจเพื่อเป็นที่พักเจ้าหน้าที่และปฏิบัติราชการ เพื่อสวัสดิการของคนใช้รถใช้ถนนสายธนบุรี-ปากท่อ
       ๘. จัดตั้งโครงการบำรุงขวัญทหารตำรวจ ตระเวนชายแดน โดยชักชวนคณะสานุศิษย์ นำสิ่งของไปให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการชายแดน
       ๙. เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ ออกเดินธุดงค์รอบโลก ๔๐ ประเทศ โดยทางพื้นดิน เพื่อเผยแพร่พระธรรม และสงเคราะห์ชาวพุทธในต่างแดน
ท่านได้อาราธนาให้ทำพิธีที่สถานทูตไทย จากกระทรวงการต่างประเทศ และบุคคลทั่วไปเป็นประจำ
    ๑๐. เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านได้อาราธนาจากสหพันธ์คาทอลิก และประธานสหพันธ์คาทอลิกแห่งรัฐแคนซัสซิตี้ ให้ไปเป็นผู้ดูแลอบรม
สงเคราะห์ชาวพุทธในต่างแดน (ลาว เขมร เวียดนาม) ที่อพยพไปจากอินโดจีน เพื่อให้หายว้าเหว่และมีที่ยึดเหนี่ยว ซึ่งหน้าที่นี้ทำให้หลวงพ่อจำเป็นต้องจากวัดไปเป็นเวลานาน ๆ หลายครั้ง
    ๑๑. รับอารธนาไปดูงานสถานที่อดยาเสพติด ป.ต.ฟาวเดชั่น ประเทศฟิลิปปินส์
    ๑๒. ติดตั้งโทรศัพย์ระบบวิทยุ เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารและการติดต่อได้รวดเร็วขึ้น
    ๑๓. สร้างสถานพยาบาล แพทย์เคลท่อนที่ โครงการพระช่วย บริการ ตรวจรักษาให้ยาฟรีร่วมกับบริษัทยาต่าง ๆ โดยการนำของนายแพทย์ประพจน์ เภตรากาศ และคณะพยาบาลโรงพยาบาลเสิศสิน
    ๑๔. เปิดสถานศึกษาภายในวัดเกตุมดีศรีวราราม อาทิเช่น โรงเรียนบาลี โรงเรียนพระอภิธรรม โรงเรียนนักธรรมและธรรมศึกษา โรงเรียนวิชาช่างร่วมกับการศึกษานอกสถานที่ จังหวัดสมุทรสาคร โรงเรียนพุทธศาสนาสาธิต อบรมเด็กบวชสามเณรภาคฤดูร้อน โรงเรียนสอนภาษอังกฤษ โดยคุณครูวาด เกิดโชคงาม ฯลฯ
    ๑๕. เปิดห้องประชุมวีดีโอธรรมสภา เพื่อภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ และบางสิ่งที่หลวงพ่อเห็นสมควรจะให้ได้ดูได้ศึกษานอกจากนี้แล้วส่วนราชการบางแห่งยังมาขอใช้สถานที่ในการจัดประชุมสัมมนาอีกด้วย นับว่าได้ประโยชน์หลายทาง
    ๑๖. ควบคุมอบรมพิธีปรวาสกรรม พระหน่วยพัฒนาการทางจิต ที่จิตภาวันตั้งแต่รุ่น ๑ ถึงรุ่น ๑๐
    สำหรับกิจกรรมประจำวันของวัดที่จัดทุกปี คือ การจัดปริวาสกรรมของพระ และการอยู่ดิถีปริวาสกรรมฆราวาส ปีละ ๒ ครั้งนั้น ทำมาไม่เคยขาด และนับวันจะเพิ่มจำนวนพระที่มาเข้าปริวาสกรรมมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะครั้งล่าสุด คือระหว่างวันที่ ๑๗-๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๗ มีพระมาอยู่ปริวาสกรรมถึง ๘๔๑ รูป มาจาก ๓๘๗ วัด ๓๓๗ ตำบล ๑๘๙ อำเภอ ๕๖ จังหวัด


    จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมวัดของหลวงพ่อพระครูภาวนาวรคุณของเรา จึงได้รับเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑และองค์หลวงพ่อเองก็ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ ตำแหน่งพระครูเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เทียบเท่าผู้ช่วยเจ้าอาวาส
พระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘ และต่อมาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูต เพื่อดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๔
    เป็นประธานมูลนิธิภาวนา  แถบ  กิมลี้   คุณาบุตร
    เป็นประธานมูลนิธิเกตุมดีชีพอนุรักษ์
    เป็นประธานบวชสามเณรภาคฤดูร้อนวัดเกตุมดีศรีวราราม
    เป็นประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู ใกล้วัดเกตุมดีศรีวราราม
    เป็นประธานมูลนิธิภาวนาวรคุณ ของโรงเรียนวัดเกตุมดีศรีวราราม
   

    นอกจากการสนับสนุนให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความเจริญ และได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว องค์หลวงพ่อเองก็ขยันหมั่นเพียรขวนขวายหาความรู้ในขณะที่อยู่ในสมณเพศตลอดเวลา ตั้งแต่ท่านเริ่มบวชเป็นพระจนถึงมรณภาพตามเวลา และโอกาสจะอำนวยให้ท่านทำดังนี้
    ได้รับประกาศนียบัตร นักธรรมชั้นตรี วัดเดชาติวงศ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
    ได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นโท วัดบางช้างใต้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
    ได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมชั้นเอก วัดบัณฑูรย์สิงห์ ตำบลบางโทรัด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
    เรียนบาลีไวยากรณ์ วัดช่องลม (วัดสุทธิวาตวราราม) จังหวัดสมุทรสาคร
    เรียนอภิธัมมัตถสังคหะ วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ
    สอนอบรมตั้งแต่เป็นอุปัชฌาย์ ที่สถานอบรมวัดสามพระยา กรุงเทพฯ
    เรียนอบรมพระสังฆาธิการ วัดช่องลม (วัดสุทธิวาตวราราม) จังหวัดสมุทรสาคร
    เรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนคอนนารี่คอลเลจน์ แคนซัสซิตี้ มลรัฐมิสซูรี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา (จบคอสที่ ๑ แล้ว)
เมื่อคราวได้รับอาราธนาไปดูแลอบรมชาวอินดดจีนอพยพประจำอยู่ ๑ พรรษา
    ขณะที่หลวงพ่อกำลังดำเนินการเสริมสร้างพระบรมธาตุเกตุมวดีย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมการกราบไหว้บูชาของบุคคลทั่วไป โดยสร้างพระบรมธาตูองค์ใหม่ มีอุโบสถพร้อมอยู่ในองค์พระบรมธาตุและองค์พระบรมธาตุองค์เก่าอยู่ภายในสามารถเข้าไปกราบไหว้บูชาได้ ใช้งบประมาณตามที่คณะวิศวกรรมคำนวณไว้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นเงิน ๓๐ ล้านเศษคณะนี้สร้างไปได้ ๕๐% แล้ว


     เราจะเห็นได้ว่า หลวงพ่อพระครูภาวนาวรคุณ เป็นผู้มีประวัติน่าศึกษาและน่าสนใจมาก มีผู้ใหญ่เล่าว่า เมื่อเล็ก ๆ ท่านเป็นเด็กที่เหนือกว่าเด็กอื่นในละแวกนั้น ในวัยเด็กท่านซุกซนมาก มักทำอะไร ๆ ที่แปลกแหวกแนว (สมัยใหม่เรียกว่ามีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์)
กว่าเด็กทั้งหลาย บางครั้งก็ทำให้พี่เลี้ยงอยู่ไม่สุข ในทำนองไม่สนใจดูแลเท่าที่ควร เพราะเนื้อตัวมีแต่บาดแผล พี่เลี้ยงก็เล่าตามจริงให้คุณแม่ท่านฟังแต่แล้ว

    ในที่สุดด้วยหัวคิดและสติปัญญาของท่านในวัยนั้น แทนที่ท่านจะเป็นผู้ผิดถูกคุณแม่ทำโทษ พี่เลี้ยงกลับถูกเอ็ดไป เรียกว่าท่านเป็นเด็กที่มีความคิดเฉียบแหลมเกินเด็กทั้งหลายและเกินผู้ใหญ่บางคน
    เมื่อคราวท่านจะบวช โยมบิดาท่านเป็นเดือดเป็นแค้นมาก เพราะลูกชายกลับบ้านเกือบไม่ทันบวช ถ้าโยมบิดายังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีความภาคภูมิใจและยินดีสักแค่ไหน เมื่อลูกชายที่ท่านคิดว่าคงบวชไม่เกิน ๗ วันนั้น จะมาได้จนกระทั่งทุกวันนี้ (สมัยหนุ่ม ๆ ท่่านเป็นคนรูปงามมาก)


    จากประวัติและผลงานดังกล่าวข้างต้นของหลวงพ่อ จะเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีแต่ความเมตตา เสียสละ และเป็นนักสร้างที่ยิ่งยง ท่านเป็นผู้สร้างแต่คุณประโยชน์ต่อศาสนา สังคมและเป็นที่พึ่งต่อบรรดาญาติมิตร และสานุศิษย์ทั้งหลายโดยไม่เลือกฐานะและบุคคล
    ในอดีตสมัยท่านเข้ามาอยู่ในวัดเกตุมดีฯ ใหม่ ๆ ตอนนั้นเต็มไปด้วยป่า บริเวณวัดก็มีแต่พระธาตุและศาลาเก่า ๆ ๑ หลัง ที่ท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์และโยมบิดามารดา ตลอดจนญาติ ๆ ของท่านสร้างไว้ ไม่มีใครคาดฝันว่าต่อมาป่าจะกลายเป็นท้องถิ่นที่เป็นดังเช่นปัจจุบันนี้ นับว่าท่านเป็นผู้้ที่แกร่งเหมือนเพชร
ท่านได้ต่อสู้อุปสรรคมานับประการ ทั้งภายในและภายนอกวงการที่โหมกระหน่ำซ้ำเติมท่านมาหลายครั้งหลายคราว และด้วยความเป็นเพชรแท้ของท่านนี้เองจึงสามารถชนะทุกอย่างได้ในที่สุด ดังเช่นที่เห็นกันทุกวันนี้ สมกับธรรมที่ว่า "ธรรมย่อมชนะอธรรม" นั้นเอง 
* ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บวัดเกตุม.คอม

 

สมณศักดิ์

พ.ศ.  ๒๕๐๖              เป็นพระครูใบฎีกา ฐานานุกรมของพระธรรมเสนานี (สมณศักดิ์ขณะนั้น)  เจ้าคณะ ภาค ๑๒  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จังหวัดกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งโดยสมเด็จพระวันรัต (สมณศักดิ์ขณะนั้น)  วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ.  ๒๕๑๔             เป็นพระครูภาวนาวรคุณ สัญญาบัตรชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนา

พ.ศ.  ๒๕๑๘             เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนา เทียบเท่า (ท) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนา 


 
      กลับหน้าหลัก - 2Candles.com