ฤกษ์ที่ ๑๔ ดาวจิตตะ
นิทานบทนี้ว่า ยังมีพระราชธิดาองค์หนึ่งรูปงามนัก แต่โหรพยากรณ์ว่า จะถูกจรเข้กินป็นแท้ ขอให้ระวังเหตุนี้ จึงกวดขันอย่าให้ลงสรงน้ำในแม่น้ำลำคลองเลย ต่ออายุ ๒๐ ปี จึงพ้นเคราะห์ พระราชบิดาจึงสั่งห้ามมิให้พระราชธิดาเสด็จไปในที่ใดๆ ที่มีแม่น้ำลำคลองบ่อบึงทั้งหลาย ครั้นกาลนานมากกษัตริย์นั้นเสด็จไปประพาสป่า นางก็อ้อนวอนพระมเหษีผู้เป็นมารดา ขอลงอาบน้ำที่ท่าน้ำ พระมเหษีก็ห้ามปรามว่า ไปไม่ได้ดพราะพระราชบิดาห้าม เพราะโหรเขาทายว่าจรเข้จะกินเสีย นางจึงอ้อนวอนขอให้ขุดสระข้างทิศตะวันออกของวัง พอให้ลงอาบน้ำได้ พระมเหษีก็ให้ขุดสระตามคำขอของนางนั้น แล้วทำเวทียื่นจมลงไปในสระ มีเครื่องกั้นรอบเวทีนั้นอีก เพื่อกันสัตว์ร้ายจะเข้ามาทำร้าย พระราชธิดากับนางสาวใช้ก็ลงอาบน้ำเล่นในเวทีนั้น ครั้นหนาวแล้วก็ขึ้นจากน้ำ นั่งอยู่ที่ขอบเวทีนั้น วันนั้นบังเอิญพระยานาคเลื้อยไปซ่อนอยู่ที่ใต้เวทีนั้น ได้ยินเสียงคนอาบน้ำกันก็สอดหัวออกมาดูอยู่ที่ริมสระ พระราชธิดาเห็นตาพระยานาคนั้นสำคัญว่าแก้วไพฑูรย์ก็ให้คนใช้ไปเอาแก้วนั้น นาคราชนั้นก็หลับตาจมศรีษะลงไปเสีย คนใช้ก็หาได้แก้วไปถวายไม่ พอคนใช้กลับแล้วนาคนั้นก็ชูศรีษะขึ้นลืมตาดูดังเดิมอีกเล่า พระราชธิดาก็ออกจากเวที จะไปหยิบเอาแก้วด้วยลำพังตนเอง พอถึงที่นั่นพระยานาคก็กลับกลายรูปเป็นจรเข้ คาบเอาพระราชธิดาลงไปกินเสียในน้ำ
เรื่องนี้เทพเจ้าปรารถนาจะให้เป็นคติโลก จึงอุปถัมภ์กำเนิดเป็นดาวจิตตะลูกเดียวดังนี้
เพื่อให้ประจักษ์แก่ตาโลกว่า นางกุมารีนั้น กระทำกรรมมาแต่ปางหลัง จะถึงวาระด้วยสิ่งใดแล้ว ถึงจป้องกันอย่างใดๆ ก็ดี ก็ต้องตายด้วยสิ่งนั้นเป็นแท้
บทนี้เป็นมูลพยากรณ์ว่า หญิงชายผู้ใดเกิดมาเมื่อพระจันทร์เสวยจิตตะฤกษ์ จะตายด้วยสัตว์น้ำทำอันตรายหรือตกน้ำตายแล |